เนื้อหาทำแบบทดสอบ บทที่ 1-3



แบบทดสอบที่ 1
๑.๑ ประวัติและความสำคัญของพระพุทธศาสนา


พระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์แห่งการศึกษา


คำว่า “การศึกษา” มาจากคำว่า “สิกขา” โดยทั่วไปหมายถึง “กระบวนการเรียน “ “การฝึกอบรม” “การค้นคว้า” “การพัฒนาการ” และ “การรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งปวง” จะเห็นได้ว่า การศึกษาในพระพุทธศาสนามีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับต่ำสุดถึงระดับสูงสุด เมื่อ
แบ่งระดับอย่างกว้าง ๆ มี 2 ประการคือ


1. การศึกษาระดับโลกิยะ มีความมุ่งหมายเพื่อดำรงชีวิตในทางโลก
2. การศึกษาระดับโลกุตระ มีความมุ่งหมายเพื่อดำรงชีวิตเหนือกระแสโลก
----------------------------------------------------
๑.๒ พระพุทธศาสนาเน้นความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยและวิธีการแก้ปัญหา


พระพุทธศาสนาเน้นความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย




หลักของเหตุปัจจัย หรือหลักความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นหลักของเหตุปัจจัยที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ที่เรียกว่า "กฎปฏิจจสมุปบาท" ซึ่งมีสาระโดยย่อดังนี้
"เมื่ออันนี้มี อันนี้จึงมี เมื่ออันนี้ไม่มี อันนี้ก็ไม่มี เพราะอันนี้เกิด อันนี้จึงเกิด เพราะอันนี้ดับ อันนี้จึงดับ"นี่เป็นหลักความจริงพื้นฐาน ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาลอย ๆ ไม่ได้ หรือในชีวิตประจำวันของเรา "ปัญหา"ที่เกิดขึ้นกับตัวเราจะเป็นปัญหาลอย ๆ ไม่ได้ จะต้องมีเหตุปัจจัยหลายเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมา หากเราต้องการแก้ไขปัญหาก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยในการแก้ไขหลายเหตุปัจจัย ไม่ใช่มีเพียงปัจจัยเดียวหรือมีเพียงหนทางเดียวในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น


คำว่า "เหตุปัจจัย" พุทธศาสนาถือว่า สิ่งที่ทำให้ผลเกิดขึ้นไม่ใช่เหตุอย่างเดียว ต้องมีปัจจัยต่าง ๆ ด้วยเมื่อมีปัจจัยหลายปัจจัยผลก็เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เราปลูกมะม่วง ต้นมะม่วงงอกงามขึ้นมาต้นมะม่วงถือว่าเป็นผลที่เกิดขึ้น ดังนั้นต้นมะม่วงจะเกิดขึ้นเป็นต้นที่สมบูรณ์ได้ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดเป็นต้นมะม่วงได้ เหตุปัจจัยเหล่านั้นได้แก่ เมล็ดมะม่วง ดิน น้ำ ออกซิเจน แสงแดด อุณหภูมิที่พอเหมาะ ปุ๋ย เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้พรั่งพร้อมจึงก่อให้เกิดต้นมะม่วง ตัวอย่างความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย เช่น ปัญหาการมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการเรียนของนักเรียน มี
เหตุปัจจัยหลายเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเรียนอ่อน เช่น ปัจจัยจากครูผู้สอน ปัจจัยจากหลักสูตรปัจจัยจากกระบวนการเรียนการสอนปัจจัยจากการวัดผลประเมินผล ปัจจัยจากตัวของนักเรียนเอง เป็นต้น


ความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย หรือหลักปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นอาการของสิ่งทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยต่อ
กันอย่างเป็นกระแส ในภาวะที่เป็นกระแสนี้ ขยายความหมายออกไปให้เห็นแง่ต่าง ๆ ได้คือ


- สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน
- สิ่งทั้งหลายมีอยู่โดยความสัมพันธ์กัน
- สิ่งทั้งหลายมีอยู่ด้วยอาศัยปัจจัย
- สิ่งทั้งหลายไม่มีความคงที่อยู่อย่างเดิมแม้แต่ขณะเดียว (มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่นิ่ง)
- สิ่งทั้งหลายไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง คือ ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน
- สิ่งทั้งหลายไม่มีมูลการณ์ หรือต้นกำเนิดเดิมสุด แต่มีความสัมพันธ์แบบวัฏจักร หมุนวนจนไม่ทราบว่าอะไรเป็นต้นกำเนิดที่แท้จริง
----------------------------------------------------
๑.๓ พระพุทธศาสนาฝึกตนไม่ให้ประมาท


ความประมาท ได้แก่ การดำเนินชีวิตโดยมีสติ คือ ระลึกได้ว่า ชีวิตของเราเกิดมาได้อย่างไร จะดำรงชีวิตอยู่อย่างไรจึงจะมีความสุขความเจริญ และตายไปแล้วจะเป็นอย่างไรจึงจะดีที่สุดสำหรับตัวเอง เมื่อมีสติประจำตัวอยู่เสมอ ทำให้เกิดสัมปชัญญะ คือ รู้สภาพของตัวเองได้ดีได้ถูกต้องขึ้นว่า เราไม่ใช่ผู้อยู่เหนือธรรมชาติ เราสามารถ เจ็บ ตาย ได้ทุกขณะทุกเวลา อะไร เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ต้องรีบทำความดี เช่น การรักษาศีล การละเว้นความชั่ว การทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ การทำให้ตัวเองมีปัญญามีความรอบรู้ในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เพื่อจะได้นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง เป็นประโยชน์ที่สุดแก่ชีวิตทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เพื่อจะได้ไม่เป็นเหยื่อของคนชั่วและเป็นทาสของความชั่วร้าย ทำให้เราไม่ขาดสติสัมปชัญญะไม่มัวเมาในชีวิต ไม่หลงทางในการดำเนินชีวิต ไม่เป็นชีวิตที่ไร้ประโยชน์ไร้คุณค่า มีจุดหมายของชีวิต ทั้งในชาตินี้ชาติหน้า นอกจากนี้แล้ว ความไม่ประมาทยังหมายถึงการกระทำโดยความเคารพ การทำอะไรถูกต้องและต้องทำให้ต่อเนื่อง ให้สม่ำเสมอ ไม่ให้ย่อหย่อน ไม่ทอดธุระมีความพอใจ มีจิตใจที่ตั้งมั่นแน่วแน่และการประกอบเนื่อง ๆ กระทำให้มากในเรื่องบุญกุศล
----------------------------------------------------
๑.๔ พระพุทธศาสนามุ่งประโยชน์สุขและสันติภาพแก่บุคคล สังคม และโลก


พระพุทธศาสนามุ่งประโยชน์สุขและสันติภาพแก่บุคคล สังคม และโลก




พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานอารยธรรมที่สำคัญของโลกดังได้กล่าวมาแล้ว พระพุทธศาสนายังมุ่งประโยชน์สุข และสันติภาพ
ให้แก่บุคคล สังคม และชาวโลกได้ หากศึกษาในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามีทั้งการสร้างสรรค์อารยธรรมและสันติภาพแก่มวลมนุษย์
นั่นคือ พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป พระพุทธศาสนาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอินเดีย กล่าวคือ
สังคมอินเดียเคยนับถือพระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด ผู้สร้างผู้บันดาลทุกสิ่ง มีการบูชายัญเทพเจ้า แล้วก็มีการกำหนดมนุษย์
เป็นวรรณะต่าง ๆ โดยชาติกำเนิด เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร แล้วก็ถือว่าพราหมณ์เป็นผู้ที่ติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้า
กับพระพรหม เป็นผู้รู้ความต้องการของพระองค์ เป็นผู้รับเอาคำสอนมารักษา มีการผูกขาดการศึกษาให้อยู่ในวรรณะสูง คนวรรณะต่ำ
เรียนไม่ได้ เป็นต้น


เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้อย่างมากมาย เช่น เรื่อง วรรณะ 4 พระพุทธศาสนาไม่
ยอมรับ แต่ให้ถือหลักว่า “คนมิใช่ประเสริฐหรือต่ำทรามเพราะชาติกำเนิด แต่จะประเสริฐหรือต่ำทรามเพราะการกระทำ” แล้ว
ก็ไม่ให้มัวหวังผลจากการอ้อนวอนบูชายัญ สอนให้เปลี่ยนการบูชายัญหรือเลิกการบูชายัญ ให้หันมาหวังผลจากการกระทำ นี่คือการ
“ประกาศอิสรภาพของมนุษย์”


เมื่อถือว่ามนุษย์จะดีจะประเสริฐอยู่ในการกระทำ มนุษย์ต้องพัฒนาชีวิตของตน ทั้งพัฒนาพฤติกรรม (ศีล) พัฒนาจิตใจ (สมาธิ)
และพัฒนาปัญญา (ปัญญา) ขึ้นไปมนุษย์จึงประเสริฐได้ ดีงามได้ ด้วยการฝึกฝนพัฒนาตน ด้วยการศึกษาเรียนรู้ เพราะฉะนั้นจึงต้อง
เสริมปัญญา มนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษา เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงทำให้เกิดการศึกษาแบบที่เรียกว่า “การศึกษามวลชน”


ในประเทศอินเดียเราสามารถพูดได้ว่า การศึกษาหลายเป็นการศึกษามวลชนได้เพราะการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา ก็แสดง
ว่าพระพุทธศาสนามีความสำคัญต่ออารยธรรมของโลก เพราะว่าเมื่ออินเดียเจริญขึ้นแล้ว อินเดียก็เป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของอารยธรรม
ของโลก


ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้นำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ มีการริเริ่มใหม่ คือการถือหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
โดยความสามัคคีระหว่างศาสนาต่าง ๆ นั่นคือพระเจ้าอโศกมหาราชได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ทั้ง ๆ ที่พระองค์เป็นราชาในแบบ
สมัยโบราณที่มีอำนาจเต็มที่ แต่เมื่อนับถือพระพุทธศาสนาก็ถือหลักเมตตา อุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนา และให้ศาสนิกชนในศาสนาต่าง ๆ
อยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน ยอมรับหลักธรรมของกันและกัน ไม่ทะเลาะ ไม่ใช้กำลัง ไม่ใช้ความรุนแรง


ในประเทศตะวันตกได้พยายามต่อสู้เพื่อสร้างหลักการแห่งเสรีภาพทางศาสนาขึ้นมาด้วยความยากลำบาก เพราะประเทศ
ตะวันตกนั้นเป็นดินแดนของการรบราฆ่าฟันทางศาสนา มีการข่มเหง เบียดเบียนเพราะนับถือศาสนาต่างกัน (persecution) และมีสงครามศาสนา (religious wars) มากมาย และพวกเขาได้พยายามดิ้นรนที่จะให้เกิดขันติธรรม(tolerance) ซึ่งต่างจากพระเจ้าอโศกมหาราชที่ใช้หลักการทางพระพุทธศาสนาก่อให้เกิดสันติภาพขึ้นมาในประเทศในสมัยนั้นได้
----------------------------------------------------
๑. ๕ พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน


พระพุทธศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง


การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ของประเทศไทยที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการแข่งขันด้านการผลิตสิ่งของเครื่องใช้เป็นจำนวนมากมีการส่งเสริมให้ประชาชนใช้วัตถุอำนวยความสะดวกสบาย และปรนเปรอความสุขของตน ก่อให้เกิดลัทธิ “วัตถุนิยม” ก่อให้เกิดหนี้สินจำนวนมากมาย ลัทธินี้เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในลักษณะที่ทำให้สังคมเป็น “สังคมบริโภคนิยม” ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากเพิ่มมากขึ้น ความเชื่อที่ว่าการส่งเสริมความสุข โดยการปรนเปรอทางวัตถุจึงเป็นการเพิ่ม “ความทุกข์” อย่างปฏิเสธไม่ได

แนวคิด “เศรษฐกิจเชิงพุทธ” จึงเป็นแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหา “ความทุกข์” ที่สังคมไทยเผชิญอยู่ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านได้สอนหลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มากมาย เช่น ทิฏฐธัมมิกัตถะ เป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่ทำให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้มีทรัพย์สินเงินทองพึ่งตนเองได้ ได้แก่ ความขยันหมั่นเพียร การรู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้ การคบเพื่อนที่ดี และการมีความเป็นอยู่พอดี


หลักโภคาวิภาค 4 คือวิธีการจัดสรรทรัพย์ในการใช้จ่าย กามโภคี คือคนครองเรือน. สุขของคฤหัสถ์ 4 หลักทั้ง 4 ประการนี้
สามารถสรุปถึงข้อปฏิบัติเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักการของพระพุทธศาสนา รวมได้เป็น 4 ประการคือ


1. การแสวงหา หรือกระบวนการผลิต โดยมีหลักการที่เน้นว่า ให้การแสวงหาทรัพย์นั้นเป็นไปโดยชอบธรรม ไม่กดขี่ข่มเหงกัน
และเป็นไปด้วยความขยันหมั่นเพียร และความฉลาดในการจัดสรรดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น ๆ


2. การเก็บออม หรือ การเก็บรักษา ตลอดถึงการสะสมทุน ประกอบด้วย เก็บออมให้เป็นทุนในการประกอบอาชีพและเก็บออมไว้ใช้ในคราวจำเป็น และเป็นทุนสำหรับไว้สงเคราะห์ บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม


3. การใช้จ่าย เป็นการใช้จ่ายเพื่อเลี้ยงตนเอง เลี้ยงดูบุคคลที่รับผิดชอบ การแบ่งปันเผื่อแผ่แก่มิตรสหายหรือกิจกรรมทางสังคมและใช้จ่ายในการทำความดีและบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณะ


4. การสัมพันธ์กับชีวิตด้านอื่น โดยเฉพาะด้านจิตใจ เช่น ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่ห่วงกังวลเป็นทุกข์รู้จักบริโภคทรัพย์อย่างรู้เท่าทันความจริง สามารถรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ได้ไม่ตกเป็นทาสของทรัพย์สมบัติและทำให้ทรัพย์สมบัตินั้นเป็นปัจจัยหรือเป็นฐานให้เกิด
ความพร้อมในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นไปหรือใช้เป็นเครื่องช่วยทำให้เกิดความพร้อมในการที่จะพัฒนาศักยภาพของตน
ในการที่จะฝึกฝนอบรมจิตใจ พัฒนาจิต และพัฒนาปัญญา
****************************************************************
แบบทดสอบที่ 2
๒. ๑ ความหมายและคุณค่าของสังฆะ


ความหมายของสังฆะ




คำว่า “สังฆะ” ก็คือ สงฆ์ แปลว่า หมู่ หรือชุมชน ดังนั้น คำว่า “พระสงฆ์” คือชุมชนอันประเสริฐ ซึ่งเกิดจากท่านผู้รู้ผู้ดำเนินตาม
อย่างพระพุทธเจ้า มาอยู่ร่วมกัน เป็นแหล่งที่ดำรงรักษาธรรม และเป็นแหล่งแห่งกัลยาณมิตร ที่จะช่วยเกื้อหนุนให้ผู้ศึกษาเจริญงอกงามขึ้นไปในชีวิตอันประเสริฐ จนสามารถเข้าถึงธรรม ตามอย่างพระพุทธเจ้า


พระสงฆ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ


1.พระอริยสงฆ์คือภิกษุผู้รู้แจ้งธรรมผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บรรลุถึงความรู้แจ้งสามารถกำจัดกิเลสตัณหาอุปาทานได้ตามภูมิชั้นของตน ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ตามลำดับ


2.สมมุติสงฆ์คือพระภิกษุผู้ได้รับการอุปสมบทถูกต้องตามธรรมวินัยแล้วอุทิศตนเพื่อการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยตามความสามารถของตน แต่ยังไม่บรรลุมรรคผล


ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาพระสงฆ์สามารถประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ได้โดยแบ่งพระสงฆ์ออกเป็น 4 หมวดคือ


1. สงฆ์จตุวรรค คือ หมู่ภิกษุตั้งแต่ 4 รูป สามารถประกอบพิธีกรรมได้ทุกอย่าง ยกเว้น การปวารณา การทอดกฐิน การอุปสมบทและอัพภาน (พิธีกรรมของสงฆ์ที่ผิดอาบัติ)


2. สงฆ์ปัญจวรรค คือ หมู่ภิกษุตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป สามารถทำปวารณา ให้ผ้ากฐิน และให้การอุปสมบทในปัจจันตชนบทได้ (สถานที่ขาดแคลนพระสงฆ์ เช่น ในเขตชนบท)


3. สงฆ์ทสวรรค คือ หมู่ภิกษุตั้งแต่ 10 รูปขึ้นไป สามารถให้การอุปสมบทในมัธยมประเทศ (สถานที่ที่ไม่ขาดแคลนพระสงฆ์ เช่นในเขตเมือง) ได้


4. สงฆ์วีสติวรรค คือ หมู่ภิกษุจำนวน 20 รูปขึ้นไป สามารถทำอัพภานได้
----------------------------------------------------
๒. ๒ อริยสัจ 4 : ทุกข์ : ขันธ์ 5 : จิต, เจตสิก


จิต (Consciousness)




จิต มีลักษณะเป็นนามธรรม ที่เกิด-ดับ ตลอดเวลา ทำหน้าที่รับรู้ รู้สึก คิด จำ เป็นต้น เป็นฐานของชีวิต การรู้สึกตัว การรับรู้การ
สัมผัสและการนึกคิดต่าง ๆ แต่ไม่มีลักษณะเป็นตัวตน


ลักษณะของจิต


ลักษณะของจิต ประมวลได้ดังนี้
1. ไม่มีรูปร่าง
2. ไม่กินเนื้อที่
3. หมุนไปเร็ว
4. ไปได้ไกล
5. บริสุทธิ์ ผ่องใส
6. มีปกติรับรู้อารมณ์อยู่เสมอ
7. เป็นผู้สั่งสมวิบาก (ผล) ของกรรม
8. รักษาขันธสันดานให้เกิดขึ้นโดยติดต่อสืบและไม่ขาดสาย (ภวังคจิต)
9. ทำให้สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตวิจิตรพิศดาร


----------------------------------------------------
๒. ๓ อริยสัจ 4 : นิโรธ : ธรรมนิยาม : ปฏิจจสมุปปบาท


ธรรมนิยาม (the geniral laws fo cause and effect)


ธรรมนิยามเป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์หรืออาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลายหรือกฎทั่วไปแห่งเหตุและผลเช่นสิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เป็นธรรมดา คนย่อมมีความเกิด แก่ เจ็บตาย เป็นธรรมดาธรรมนิยามเป็นคำสรุปรวมเอานิยามทุกข้อทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน และอุตุนิยาม ธรรมนิยาม จิตตนิยามและกรรมนิยาม ก็รวมอยู่ในธรรมนิยามนี้เช่นกัน


กฎธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เป็นไปเองธรรมดาธรรมชาติ โดยไม่มีใครมาสร้างหรือดลบันดาลให้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้และจะต้องมีความสัมพันธ์กัน เช่น ดิน ผสมกับน้ำ ก็กลายมาเป็นโคลนตม เป็นต้นลักษณะของกฎธรรมชาตินี้ต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่อาศัยซึ่งกันและกัน ที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปปบาท” (ปะ-ติด-จะ-สะมุบ-ปะ-บาด)


----------------------------------------------------
๒.๔ อริยสัจ 4 : นิโรธ : นิพพาน


นิพพาน (Nibbann)


นิพพาน คือจุดหมายสูงสุด หรือสภาวะสูงสุดของชีวิต ผู้บรรลุจุดหมายสูงของชีวิตได้ คือ พระอรหันต์ แปลว่า เป็นผู้ห่างไกลกิเลส การที่จะบรรลุความเป็นอรหันต์ได้นั้นจะต้องปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 คือ มีความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ ทำความเพียรชอบ ระลึกชอบ และมีสมาธิชอบ เป็นแนวทางไปสู่จุดหมายสูงสุดของชีวิต นั่นคือ นิพพาน


สภาวะของแห่งนิพพาน


1. ความหมายของคำว่านิพพาน
โดยพยัญชนะ คำว่า “นิพพาน” เป็นภาษาบาลี “นิ” แปลว่า ออกไป หมดไป “วาน” แปลว่า พัด ไป หรือเป็นไป เครื่องร้อยรัดถ้าใช้เป็นกิริยาของไฟ แปลว่า ดับไฟ ดับร้อน หมายถึงเย็นลง หรือเย็นสนิท ถ้าใช้เป็นกิริยาของจิต หมายถึง ความเย็นใจ ไม่มีความกระวนกระวายใจ จิตสงบระงับ หรือแปลว่า เป็นเครื่องดับกิเลส คือทำให้ราคะ โทสะโมหะหมดสิ้นไป


ภาษาสันสกฤตเป็น “นิรวาน” มาจากคำว่า “นิร” กับ “วาน” หมายถึง การดับกิเลสใน Pali-English Dictionary (อ้างในเดือน คำดี. 2534 : 185) ได้แยกความหมายคำว่า นิพพานออกเป็น 4 ความหมายด้วยกันคือ
1) หมายถึงการดับไฟ
2) หมายถึงความสุขสบายร่างกาย
3) หมายถึงการสิ้นไปแห่งไฟ คือ ไฟราคะ โทสะ และโมหะ
4) หมายถึงความสุขสบายทางจิต ซึ่งเกิดจากความปลอดภัย ความเป็นอิสระ ชัยชนะ ความหลุดพ้น และความสุข


ในพระพุทธศาสนา นิพพานคือ ความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ และสิ้นโมหะ ผู้บรรลุนิพพานถือว่าเป็นผู้สิ้นกิเลสอย่างสิ้นเชิงมีความหลุดพ้น เป็นอิสระ และมีความสุขอย่างแท้จริงในระดับคนธรรมดาหากเข้าใจนิพพาน ก็สามารถที่จะดำเนินชีวิตที่ดีงามได้ และมีความสงบสุขได้เช่นกัน


----------------------------------------------------
๒.๕ อริยสัจ ๔เกี่ยวกับมรรค ในหลักอธิปไตย ๓


อธิปไตย 3 (dominant influence)


อธิปไตย คือ รู้หลักความเป็นใหญ่ 3 ประการ ดังนี้
1. อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ คือ ถือเอาตนเอง ฐานะ ศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ของตนเป็นใหญ่ ฝ่ายที่เป็นกุศลในด้านนี้คือการเว้นจากการทำความชั่ว มุ่งทำความดีด้วยการเคารพตนเอง


2. โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ คือ ถือความนิยมของชาวโลกเป็นใหญ่ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทา สรรเสริญ เป็นต้นฝ่ายที่เป็นกุศลได้แก่ เว้นจากการทำชั่ว มุ่งทำความดีด้วยการเคารพเสียงของชนหมู่มาก


3. ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ถือหลักการ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผลเป็นใหญ่กระทำด้วยการคำนึงถึงสิ่งที่ได้ศึกษา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นการรู้จักพิจารณาอย่างถ่องแท้ ตามกำลังสติปัญญาและมุ่งคิดพิจารณาด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นไปโดยชอบธรรม และเพื่อความดีงามตามหลักโดยทั่วไปได้แก่ การรู้จักเคารพหลักการ กฎ ระเบียบ กติกาและข้อบังคับทางสังคมหรือองค์กรนั้น ๆ ดังนั้นหากเราต้องการถือเอาความถูกต้องเป็นใหญ่จะต้องยึดหลักของธรรมาธิปไตย โดยมิได้ถือตนหรือถือโลกเป็นใหญ่


****************************************************************
แบบทดสอบที่ 3
๓. ๑ ประวัติพุทธสาวก พุทธสาวิกา


พระอานนท์


ประวัติ


พระอานนท์ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ พระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดาพระนามว่า กีสาโคตมี ท่านจึงเป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้า ท่านออกบวชพร้อมกับ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายภคุ เจ้าชายกิมพิละ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายเทวทัต กับนายภูษามาลา ชื่อว่า อุบาลี


หลังจากบวชแล้ว ท่านได้ฟังโอวาทของพระปุณณมันตานีบุตร ได้บรรลุโสดาปัตติผล และได้มารับหน้าที่ พุทธอุปัฏฐาก ปรนนิบัติพระพุทธเจ้า จนกระทั่งหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือน จึงได้บรรลุพระอรหันตผล และท่านบรรลุพระอรหันตผลโดยไม่อยู่ในอริยบถ 4 คือ ยืน เดิน นั่ง นอน นั่นคือ ท่านบรรลุพระอรหันตผลภายหลังจากที่ได้ปฏิบัติธรรมทั้งคืนขณะที่จะเอนกายลงนอนบนเตียง พอยกเท้าพ้นจากพื้นแต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน จิตของท่านก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย คลายความยึดมั่นลงได้
ในขณะที่พระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้แล้ว ไม่มีพุทธอุปัฏฐาก พระสงฆ์สาวกต่างก็ผลัดกันทำหน้าที่อยู่รับใช้พระพุทธเจ้า ต่อมาพระสงฆ์สาวกเห็นสมควรว่าจักต้องมีภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมาทำหน้าที่นี้ และพระสงฆ์ทั้งหลายก็ขอร้องให้ท่านรับหน้าที่ พระอานนท์จึงขอพร (เงื่อนไข) 8 ประการต่อพระพุทธเจ้าก่อนรับหน้าที่พุทธอุปัฏฐาก ดังนี้


1. พระพุทธองค์ต้องไม่ประทานจีวรอย่างดีแก่ท่าน
2. ต้องไม่ประทานบิณฑบาตอย่างดีแก่ท่าน
3. ต้องไม่ให้ท่านอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกับพระพุทธองค์
4. ต้องไม่นำท่านไปในที่นิมนต์ด้วย
5. ต้องเสด็จไปในที่นิมนต์ที่ท่านรับไว้
6. ต้องให้คนที่มาแต่ไกลเพื่อเฝ้าได้เฝ้าทันที
7. ต้องให้ทูลถามข้อสงสัยได้ทุกเมื่อ
8. ถ้าไม่มีโอกาสไปฟังธรรมที่ทรงแสดง ขอให้ทรงแสดงซ้ำให้ท่านฟังด้วย
----------------------------------------------------
๓. ๒ ชาดก


มหาชนกชาดก


หนังสือ ชาดก และ ประวัติพุทธสาวก – พุทธสาวิกา ของ พระมหาสุนทร สุนฺทรธมฺโม เพื่อใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบรายวิชาพระพุทธศาสนา หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้บรรจุชาดก เรื่อง มหาชนกชาดก ไว้ จึงขอนำมากล่าวถึงในที่นี้ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา ดังนี้


ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภมหาภิเนกขัมมบารมีของพระองค์ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาทกว่า
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีพระราชาพระนามว่า มหาชนก ผู้ครองเมืองมิถิลาแคว้นวิเทหะ มีพระโอรส 2 พระองค์ คือ พระอริฏฐชนก ผู้พี่และพระโปลชนก ผู้น้อง ต่อมาเมื่อพระมหาชนกสวรรคตแล้วพระอริฏฐชนกขึ้นครองราชย์แทนและทรงตั้งพระโปลชนกเป็นพระอุปราช


ในสมัยนั้นพระโพธิสัตว์กำนิดในครรภ์ของพระเทวีเพราะทรงเชื่อคำของอำมาตย์ผู้ใกล้ชิดพระอริฏฐชนกจึงจับพระโปลชนกขังไว้ด้วยเกรงจะชิงบัลลังก์ ต่อมาพระโปลชนกหนีออกไปได้จึงรวบรวมกำลังพลยกทัพมาชิงบัลลังก์คืน ในขณะที่เกิดภัยสงครามชิงราชบัลลังก์กัน พระเทวีปลอมพระองค์เป็นคนสามัญเสด็จหนีออกจากพระนครได้ทันเวลาก่อนที่พระเจ้าโปลชนกจะยกทัพเข้ายึดพระนครพระอินทร์ได้จำแลงเพศเป็นคนขับเกวียนนำส่งเสด็จพระนางจนถึงเมืองกาลจัมปากะภายในวันเดียว พระนางเข้าพักที่ศาลาริมทางแห่งหนึ่ง ขณะนั้นอาจารย์ทิศาปาโมกข์พร้อมกับศิษย์ 500 คน เดินทางมาพบเข้า เกิดความเมตตาสงสารจึงรับพระนางไว้เป็นน้องสาวแล้วพาไปอยู่กับครอบครัวตน


ต่อมาไม่นานพระนางก็ประสูติพระราชโอรสทรงระลึกถึงความหลังจึงเอาพระนามของพระเจ้าปู่มาตั้งให้พระโอรสว่า “มหาชนก”มหาชนกกุมารเจริญวัยแล้วได้ไปเล่นกับเด็กอื่นๆ เมื่อคราวทะเลาะกับเด็กเหล่านั้นก็ถูกเรียกว่า “เจ้าลูกกำพร้า”ทำให้พระองค์ทูลถามเรื่องชาติกำเนิดกับพระมารดาอยู่เนืองๆ เมื่อพระมารดาไม่บอก จึงคิดอุบายโดยทูลขอเสวยน้ำนมแล้วกัดเต้านมพระมารดาไว้แน่นพร้อมทั้งขอให้พระมารดาบอกความจริงเกี่ยวกับชาติกำเนิดของพระองค์ ในที่สุดพระมารดาก็บอกความจริงให้ทรงทราบ


เมื่อพระองค์ทรงทราบความจริงแล้ว จึงคิดจะไปแย่งชิงราชสมบัติอันเป็นของพระบิดาคืนมาให้ได้ เพื่อแก้แค้นให้พระบิดา จากนั้นจึงทรงตั้งพระทัยศึกษาศิลปวิทยาทุกอย่างที่จะทำให้งานของพระองค์สำเร็จในภายหน้า พระองค์ได้ศึกษาจบเมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา
เมื่อศึกษาศิลปวิทยาจบแล้ว พระมหาชนกมีพระประสงค์จะแสวงหาทรัพย์เพื่อเป็นกำลังในการชิงเอาราชสมบัติ และคิดจะขึ้นเรืองสำเภาไปแสวงหาโชคทางสุวรรณภูมิ จึงเข้าไปปรึกษาพระมาดาแต่ถูกห้ามไว้เพราะเห็นว่าการเดินทางออกทะเลนั้นมีอันตรายมาก แต่ในที่สุดพระมารดาก็ไม่อาจห้ามความตั้งใจจริงของพระโอรสได้ จึงประทานทูนทรัพย์สำหรับค้าขายให้แก่พระราชกุมาร
พระมหาชนกได้จัดซื้อสินค้าต่างๆ ลงบรรทุกเรือออกไปค้าขายทางทะเลพร้อมกับพ่อค้าประมาณ 700 คน ในวันเดียวกันนั้น ที่เมือง
มิถิลาพระเจ้าโปลชนกก็ประชวรหนัก จนไม่สามารถเสด็จลุกขึ้นจากพระแท่นบรรทมได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น